รังสี UV ฆ่าไวรัสได้ดีแค่ไหน..เสี่ยงอันตรายหรือไม่?

8238 Views  | 

รังสี UV ฆ่าไวรัสได้ดีแค่ไหน..เสี่ยงอันตรายหรือไม่?

รังสี UV ฆ่าไวรัสได้ดีแค่ไหน และเหตุใดถึงไม่ควรใช้กับมนุษย์

นับตั้งแต่วิกฤติ COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดหนักขึ้นจนถึงตอนนี้ มีอีกหนึ่งคำแนะนำในการป้องกันตัวเองบนโลกโซเชียลนอกเหนือจากการหมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติ Social Distancing นั่นคือ การใช้แสง ยูวี (UV) ในการฆ่าเชื้อ COVID-19 จนทำให้หลายๆ คนเกิดความสงสัยว่าคำแนะนำดังกล่าวใช้ได้จริงหรือไม่ และถ้าเป็นจริงแล้ว การนำเอาสิ่งของต่างๆ ไปตากแดดเพื่อให้แสง UV จากดวงอาทิตย์ฆ่าเชื้อไวรัสมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด รวมถึงข้อสงสัยที่ว่าทำไมถึงไม่มีการทำเครื่องฉายแสง UV ใช้สำหรับฆ่าเชื้อบนร่างกายคนก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ



โดยธรรมชาติแล้วแสงจากดวงอาทิตย์จะประกอบด้วยแสง UV 3 ชนิด ชนิดแรกคือ ยูวีเอ (UVA) เป็นแสงยูวีที่ส่องมาถึงพื้นผิวโลกมากที่สุด โดยแสง UVA สามารถทะลุผ่านผิวหนังของมนุษย์ นี่จึงเป็นสาเหตุในการทำให้เกิดการสูงวัยของผิวถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นรอยเหี่ยวย่นหรือจุดด่างดำบนผิว ชนิดที่สอง คือ ยูวีบี (UVB) เป็นแสงที่สามารถทำอันตรายต่อดีเอ็นเอในผิวหนังมนุษย์ได้ โดยแสง UV ชนิดนี้เป็นสาเหตุของอาการผิวไหม้หรือแม้แต่การเกิดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งผลกระทบจากสองสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องทาครีมกันแดดเวลาอยู่กลางแจ้ง อีกทั้งไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบด้วยว่า UVA ก็สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน


และสุดท้าย คือแสง ยูวีซี (UVC) เป็นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นและมีพลังงานมากที่สุด โดยเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกประเภท แม้กระทั่งไวรัสขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม ความโชคดีของมนุษย์จะไม่ได้รับผลกระทบจาก UVC เนื่องจากแสง UVC ถูกสกัดและกรองออกไปในชั้นบรรยากาศโดยโอโซนก่อนที่จะเดินทางมาถึงโลกและผิวของเรา

 

ประโยชน์จากแสง UVC
จากคุณสมบัติของแสง UVC ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบถึงประโยชน์ของมัน โดยพัฒนาเป็นแสง UVC สังเคราะห์เพื่อใช้สำหรับการฆ่าเชื้ออย่างแพร่หลายในโรงพยาบาล สำนักงาน เครื่องบิน และโรงงานต่างๆ นอกจากนี้ แสง UVC ยังถูกนำไปใช้ในกระบวนการการผลิตน้ำดื่ม เพื่อฆ่าเชื้อปรสิตบางชนิดที่ทนต่อสารเคมีอย่าง ‘คลอรีน’


แสง UVC กับ COVID-19

 

เพราะเหตุนี้ จึงมีคำถามตามมาว่า “แสง UVC สามารถต่อกรกับไวรัส COVID-19 ได้หรือไม่?”

ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่าแสง UVC ส่งผลต่อเชื้อไวรัส COVID-19 แต่จากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า แสง UVC สามารถต้านเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดอื่นอย่าง ‘ซาร์ส’ ได้ โดยรังสีนี้ส่งผลต่อโครงสร้างทางพันธุกรรมและยับยั้งไม่ให้ไวรัสทำการก๊อปปี้ตัวเองเพิ่มได้ ด้วยเหตุนี้ แสง UVC ที่มีความเข้มข้นสูงจึงถูกนำมาใช้ในการต่อกรกับ COVID-19 โดยในประเทศจีน รถเมล์ทุกคันถูกทำความสะอาดฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ทั้งคัน หรือตามโรงพยาบาลจะมีหุ่นยนต์ที่ฉายแสง UVC เพื่อทำความสะอาดพื้น รวมถึงตามธนาคารที่ใช้แสง UVC เพื่อฆ่าเชื้อบนธนบัตร ซึ่งการใช้ประโยชน์จากแสง UVC นี้ จึงทำให้อุปกรณ์สำหรับฉายแสง UVC มียอดขายเป็นประวัติการณ์ไม่ต่างจากอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เลย


เหตุใดถึงไม่ใช้แสง UVC กับมนุษย์
มันเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยถึงเรื่องนี้ โดย แดน อาร์โนลด์ เจ้าหน้าที่จาก UV Light Technology บริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ฆ่าเชื้อสำหรับโรงพยาบาล บริษัทยา และโรงงานผลิตอาหารต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร ได้อธิบายว่า “รังสี UVC เป็นแสงที่อันตรายมาก ซึ่งมนุษย์ไม่ควรสัมผัสมันโดยตรง มองให้เห็นภาพง่ายๆ แสง UVB อาจจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง หรือมากกว่านั้นที่จะเกิดผิวไหม้ แต่สำหรับแสง UVC ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที หากตาของคุณโดนแสง UVC ก็ไม่ต่างอะไรกับการจ้องมองดวงอาทิตย์ในเวลาไม่กี่นาที” นอกจากนี้ การใช้แสง UVC ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญและได้รับการฝึกฝนมาด้วย

แสงอาทิตย์ช่วยได้หรือไม่
ย้อนกลับมาที่แสง UVA และ UVB ว่าจะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อได้หรือไม่ หากนำสิ่งของต่างๆ ไปวางตากแดด

คำตอบ คือ ก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะพึ่งพาวิธีนี้มากนัก สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนา แสงจากดวงอาทิตย์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะการฆ่าเชื้อในน้ำดื่ม ทั้งนี้ คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังบอกด้วยว่า ให้เทน้ำใส่แก้วหรือขวดแล้วนำไปวางกลางแดดเป็นเวลา 6 ชั่วโมง แสง UVA จะไปทำปฏิกิริยากับออกซิเจนที่ละลายในน้ำจนทำให้เกิดสารฆ่าเชื้อคือ ไฮโดรเจนเปอโรไซด์ ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้



ส่วนพื้นผิวในประเภทต่างๆ ที่ไม่ใช้น้ำ แสงอาทิตย์สามารถฆ่าเชื้อได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าใช้ระยะเวลานานเท่าใด เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนของผลการศึกษาถึงเรื่องการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ด้วยรังสี UV อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีผลการศึกษาในเรื่องนี้กับโรคซาร์ส พบว่า การใช้แสง UVA ประมาณ 15 นาที มีผลต่อไวรัส แต่สำหรับแสง UVB ผลการศึกษาไม่ได้ระบุถึง

กล่าวโดยสรุป เรายังไม่สามารถรู้ได้ว่า การใช้แสง UV เพื่อฆ่าเชื้อ COVID-19 ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไร และมีความเข้มข้นขนาดไหนในแต่ละสภาพพื้นผิว รวมถึงปัจจัยต่างๆ อย่างสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาล และสถานที่

อีกทั้งการใช้รังสี หรือแสงอาทิตย์ฆ่าเชื้อบนผิวมนุษย์อาจจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะมะเร็งผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ

——————————————————————————————————————————————————————————————–

ขอบคุณบทความและรูปภาพจาก gqthailand.com และ bbc.com ,unsplash.com

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy